พบสารต้องห้ามในส้ม สาลี่ เกษตรฯ
กรมวิชาการเกษตร พบตัวอย่างผักและผลไม้สดมีปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ที่ประเทศไทยกำหนดพบสารพิษตกค้างร้อยละ 19.37
นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิด เผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ตรวจสอบคุณภาพสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ สดนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้สดจากด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชเชียงแสน ด่านตรวจพืชแม่สาย ด่านตรวจพืชลาดกระบัง ด่านตรวจพืชแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ มา ตรวจวิเคราะห์พบว่า ในสินค้าผักสดตรวจพบสารพิษตกค้างร้อยละ 19.37 โดยเฉพาะผักกาดฮ่องเต้ ตรวจพบสารพิษตกค้างสูงที่สุดถึงร้อยละ 80.00 ส่วนตัวอย่างผลไม้สดพบว่า ส้มตรวจพบสารพิษตกค้างสูงที่สุดถึงร้อยละ 83.33
นอกจากนั้น ยังพบตัวอย่างผักและผลไม้สดมีปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ที่ประเทศไทยกำหนด ได้แก่ ถั่วลันเตาหวานและถั่วลันเตา พบสาร cypermethin ปริมาณสูงสุดที่พบ คือ 0.16 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เกินมาตรฐาน MRL ที่ไทยกำหนดไว้ 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบสาร L-cyhalothin ในผักกาดฮ่องเต้ 0.63 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไทยกำหนดไว้ 0.20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ พบสาร ethion ในส้มถึง 1.53 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไทยกำหนดไว้ 1.00 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมทั้งตรวจพบสาร methidathion ในส้ม พบสาร endosulfan ในสาลี่ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้แนวโน้มพืชกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจพบสารพิษตกค้างมาก คือ ผักกาดขาว ผักกาด ฮ่องเต้ แก้วมังกร ทับทิม บร็อคโคลี่ ที่นำเข้าทางด่านตรวจพืชลาดกระบังและด่านเชียงของ ขณะที่ส้มและแอปเปิ้ลนำเข้าทางด่านตรวจพืชแม่สายและด่านลาดกระบัง ตรวจพบสารตกค้างและมีแนวโน้มของสารตกค้างเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้สดของด่านตรวจพืชต่างๆ เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
"กรมวิชาการเกษตร จะนำข้อมูลที่ได้รับไปเตือนประเทศคู่ค้า เช่น จีน พร้อมเฝ้าระวังพืชกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มในการพบสารพิษตกค้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภค ควรระมัดระวังในการซื้อผักและผลไม้สดนำเข้ามาบริโภค หรือก่อนที่จะบริโภคต้องล้างผักและผลไม้ให้สะอาดหรือกระทั่งมั่นใจว่า ปราศจากสารเคมีตกค้าง เพื่อป้องกันการสะสมสารพิษในร่างกาย" นายดำรง กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น